Picture1
Picture1

เฝือกสบฟัน

เฝือกสบฟัน  (Occlussal Splint) หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า mouth guard โดยเฝือกสบฟันนี้เป็นเครื่องมือทันตกรรม ส่วนใหญ่ใช้กับผู้ที่มีปัญหาเจ็บปวดข้อต่อกล้ามเนื้อขากรรไกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาการนอนกัดฟัน การไถฟัน บดเคี้ยวเค้นฟันรุนแรง ซึ่งเกิดขึ้นส่วนใหญ่ในขณะที่นอนหลับโดยผู้ที่กัดฟันนั้นจะไม่รู้ตัว  โดยการกัดฟัน หรือการที่ฟันบดเคี้ยวอย่างรุนแรง จะเป็นผลให้ฟันสึก หรือในบางรายที่รุนแรงอาจจะเกิดวัสดุอุดฟันแตก หรือฟันแตกได้ นอกจากนี้การบดเคี้ยวฟัน หรือ กัดฟันอย่างรุนแรงนั้นยังก่อให้เกิดการเจ็บปวดบริเวณขากรรไกร สังเกตได้จากตอนตื่นนอนจะรู้สึกปวด เมื่อยล้าบริเวณกระดูกขากรรไกร
ดังนั้นการใส่เฝือกสบฟันเพื่อเป็นตัวช่วยคั่นระหว่างฟันบนและฟันล่างนั้นจะช่วยลดแรงบดเคี้ยวกระจายการกัดบดเคี้ยวของฟันระหว่างฟันบนและฟันล่างจากการนอนกัดฟัน และเพื่อป้องกันฟันสึกกร่อนโดยการใส่เฝือกสบฟันจะใส่ในเวลากลางคืน ก่อนนอนและระหว่างนอนหลับ หรือตามที่ทันตแพทย์กำหนด หรือแนะนำเท่านั้น ทั้งนี้ทันตแพทย์ไม่แนะนำให้ใช้เฝือกสบฟันกับเด็กกำลังเจริญเติบโต เพราะฟันและขากรรไกรกำลังมีการเจริญเติบโตในวัยเด็ก ดังนั้นการใส่เฝือกสบฟันกับเด็กจะทำให้การเจริญเติบโตของฟันและขากรรไกรหยุดชะงัก

 

เฝือกสบฟันมี 2 แบบ คือ แบบนิ่ม และแบบแข็ง
เฝือกสบฟันแบบนิ่ม (Soft Occlusal Splint) เป็นเฝือกสบฟันที่ทำจากวัสดุแบบนิ่ม ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการป้องกันการกระทบกระแทกสำหรับการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมบางชนิดที่อาจมีการกระทบกระเทือนของฟัน ที่อาจทำให้ฟันแตก ฟันบิ่น ฟันหัก หรือใส่ว่ายน้ำ เพื่อป้องกันการกัดกร่อนของฟันจากน้ำคลอรีน อาจใช้สวมใส่ชั่วคราวระหว่างรอการทำเฝือกสบฟันแบบแข็ง (ที่ใช้เวลาการทำนานกว่า) ทั้งนี้เฝือกสบฟันแบบนิ่มจะมีอายุการใช้งานสั้น ไม่ค่อยทนทาน จึงต้องเปลี่ยนใหม่อยู่บ่อยๆ

 

เฝือกสบฟันแบบแข็ง (Hard Occlusal Splint) ใส่เพื่อแก้ปัญหาการนอนกัดฟัน ลดการปวด เมื่อยล้าของขากรรไกร และทันตแพทย์จะแนะนำสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติบริเวณข้อต่อของขากรรไกร หรือผู้ที่อาการติดขัดเวลาอ้าปิด เปิดปาก โดยเฝือกสบฟันแบบแข็งนี้ ทำจากวัสดุพลาสติกชนิดแข็ง จะมีความทนทานกว่า และมีอายุการใช้งานนานกว่าแบบนิ่ม โดยทันตแพทย์จะพิมพ์ฟัน แล้วส่งแบบพิมพ์ไปที่ห้องแลป เพื่อทำการปฏิบัติการโดยช่างทันตกรรมผู้ชำนาญ เพื่อทำแบบของเฝือกสบฟันตามแม่แบบที่พิมพ์ฟันของคนไข้ไว้ ดังนั้นเฝือกสบฟันจะถูกทำขึ้นสำหรับเฉพาะตามรูปแบบฟันของแต่ละบุคคล (custom-made) โดยใช้ระยะเวลาการทำเฝือกสบฟันประมาณ 7- 10 วัน ทั้งนี้ทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ฟันในครั้งแรก และนัดมาเพื่อลองใส่เฝือกสบฟันในครั้งที่ 2  ทั้งนี้ทันตแพทย์อาจมีการกรอเฝือกสบฟัน เพื่อให้พอดีกับการสวมใส่

 

การดูแลทำความสะอาดเฝือกสบฟัน ทำได้ง่ายๆ โดยการใช้แปรงสีฟัน และยาสีฟันแปรงททำความสะอาดเบาๆทั้งด้านนอก และด้านใน แล้วล้างน้ำออกให้สะอาด จากนั้นแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ในภาชนะที่มีฝาปิด เพื่อป้องกันสิ่งสกปรก และอย่าลืมเปลี่ยนน้ำที่แช่เฝือกสบฟันทุกวัน